ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดสุวรรณาราม

 

วัดสุวรรณาราม


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดสุวรรณาราม
ประเภท :
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
ที่ตั้ง :
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดสุวรรณาราม เดิมชื่อว่าวัดทอง เป็นวัดเก่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อฟื้นวัดทองแล้วสถาปนาใหม่ทั้งวัด อาทิ สร้างพระอุโบสถ เก๋งด้านหน้า กำแพงแก้ว พร้อมพระราชทานชื่อว่าวัดสุวรรณาราม วัดแห่งนี้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีปลงศพเป็นสำคัญ ทั้งพระศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมาเมรุที่สร้างขึ้นที่วัดสุวรรณารามแห่งหนึ่ง ที่วัดอรุณราชวรารามแห่งหนึ่ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้โปรดให้ช่างเขียนหลวงเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถด้วย จากนั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะพระอุโบสถ เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา กระเบื้อง และไม้อื่น ๆ ที่ชำรุด ปูพื้นภายในพระอุโบสถ (น. ณ ปากน้ำ 2540: 8-9)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นงานฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านข้างทั้งสองเขียนภาพเทพชุมนุม แบ่งเป็นแถวแนวนอน 4 แถว พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเขียนภาพทศชาติชาดก และภาพพุทธประวัติตอนประสูติและตอนมหาภิเนษกรมณ์

          จิตรกรรมแห่งนี้ตามเอกสารสาส์นสมเด็จกล่าวว่า ช่างเขียนฝีมือดี ครูทองอยู่เขียนภาพเนมีย์ชาดก ส่วนครูคงแป๊ะเขียนภาพมโหสถชาดก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2515: 189) แสดงให้เห็นว่าจิตรกรรมแห่งนี้น่าจะใช้ช่างเขียนหลายคน ต่างรับผิดชอบพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ลักษณะของภาพและกรรมวิธีของการเขียนภาพจึงแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วความเป็นเอกภาพย่อมน่าจะมีส่วนจากผู้กำกับการเขียนภาพด้วย (สันติ เล็กสุขุม 2548: 82)


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นงานฝีมือในสมัยรัชกาลที่ 3 บ่งชี้ได้จากเนื้อหาที่นำมาเขียน และลักษณะเฉพาะของภาพเขียนที่ยังอยู่ในระยะแรกเริ่มปรับเปลี่ยนแบบแผนประเพณีอย่างปรัมปราคติจึงยังอยู่ค่อนข้างครบถ้วน แบบอย่างที่เป็นงานช่างรุ่นเก่าคือ การระบายสีเรียบ และตัดเส้นขอบคม มีการใช้สีอิงความสมจริงมากยิ่งขึ้น จำนวนสีที่ใช้มีความหลากหลายมากกว่าก่อน และเริ่มมีการเกลี่ยน้ำหนักของสี อาทิ สีท้องฟ้าเกิดจากการเกลี่ยสีจากเส้นขอบฟ้าสีขาวเป็นสีฟ้าเข้มขึ้นเป็นลำดับขึ้นไปถึงบนสุดของฉาก พื้นดินระบายด้วยสีมืดจึงคัดรายละเอียดในฉากให้คมชัดยิ่งขึ้น มีการใช้สีสดเข้มมากขึ้น คู่สีที่นิยมมากคือสีแดงกับสีเขียว มักใช้ควบคู่กันในส่วนที่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของฉากในราชสำนัก มีการใช้ทองคำเปลวปิดประดับส่วนต่างๆ ของภาพ อาทิ ภาพปราสาทราชวัง เครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังมีการเขียนบันทึกภาพชาวบ้านอันเป็นสามัญเด่นชัดและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สะท้อนถึงอิสระในการแสดงออกของช่างเขียน (สันติ เล็กสุขุม 2548: 83)

          จิตรกรรมแห่งนี้เป็นตัวอย่างของงานช่างปรัมปราคติสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญยิ่ง นับเป็นตัวอย่างของการสืบทอดความคิดเก่าที่ปรับตั้งรับความคิดอย่างใหม่ คือแนวสัจนิยมตะวันตก ซึ่งเป็นกระแสขึ้นแล้วในระยะนั้น ความเป็นสัจนิยมตะวันตกสนใจเรื่องจริง อาทิ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน มิใช่ความสมจริงอย่างปรัมปราคติ ดังในเรื่องพุทธประวัติหรือทศชาติชาดก จิตรกรรมแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างทั้งในฐานะที่เป็นงานช่างชั้นเยี่ยมในรัชกาลที่ 3 และในฐานะข้อมูลที่เสมือนเป็นภาพอดีตที่ไม่เคยวาดไว้ หรือหากวาดไว้ก็ไม่มีแง่มุมหรือรายละเอียดเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะภาพการดำเนินชีวิตของชาวบ้านร้านถิ่นอันเป็นสังคมระดับล่าง ได้ช่วยขยายมุมมองบางด้านบางมุม เพิ่มเติมจากหลักฐานด้านเอกสาร หรือแม้ที่ไม่เคยมีการบันทึกเป็นเอกสารด้วย จิตรกรรมแห่งนี้ยังเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของจิตรกรรมฝาผนังที่ช่างเขียนได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ส่วนตัวไว้เด่นชัดและมากกว่าที่เคยมีมาในอดีต (สันติ เล็กสุขุม 2548: 119)

 

เอกสารอ้างอิง

น. ณ ปากน้ำ. 2540. จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณาราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2515. สาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.

สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

894


ยอด Download

2,976


ผู้เข้าชมเว็บไซต์