ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดดาวดึงษาราม

 

วัดดาวดึงษาราม


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดดาวดึงษาราม
ประเภท :
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
ที่ตั้ง :
แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
รอข้อมูล,รอข้อมูล
Plus Code :
[ รอข้อมูล ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดดาวดึงษาราม ตามประวัติกล่าวว่าเจ้าจอมแว่นในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นผู้สร้าง แรกสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก พระอุโบสถและเสนาสนะสงฆ์ปลูกสร้างด้วยไม้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที 3 พระยามหาเทพ (ปาน ปาณิกบุตร) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ทั่วราชอาณาจักร งานสำคัญคือรื้อพระอุโบสถเก่าแล้วสร้างใหม่ และเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง โดยได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดดาวดึงษาราม (ราชบัณฑิตยสถาน 2544: 3-4) วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย หลังคาทรงจั่ว ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สถาปัตยกรรมของพระอุโบสถมีลักษณะแปลกเนื่องจากแบ่งเป็น 3 ห้อง ห้องกลางประดิษฐานพระพุทธรูป อีกสองห้องมีขนาดเล็กก่อขวางเป็นห้องสกัดหน้าและห้องสกัดหลัง (สันติ เล็กสุขุม 2548: 135-136)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดดาวดึงษาราม เป็นงานฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังห้องกลางเขียนภาพทศชาติชาดก ปัจจุบันยังเหลืองานเก่าที่ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมโหสถชาดก ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก ส่วนผนังในห้องสกัดหน้าเขียนเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลพระไตรปิฎกที่ลังกา ผนังในห้องสกัดหลังเขียนเรื่องพระเจ้าทวิหนะ (สันติ เล็กสุขุม 2548: 136)


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดดาวดึงษาราม เป็นงานฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเด่นประการหนึ่งคือ มีการเขียนภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับตะวันตก อาทิ การแต่งกาย มีการเขียนภาพอย่างตะวันตก อาทิ การให้แสงเงากับภาพต้นไม้และกำแพงพระนคร สะท้อนให้เห็นว่มีการรับงานช่างอย่างตะวันตกเข้ามาใช้ในงานของตนอย่างรวดเร็ว มีการเขียนภาพที่แสดงความสมจริงมาก อาทิ ภาพเรือกำปั่นของชาวตะวันตก (สันติ เล็กสุขุม 2548: 137-138) นับเป็นตัวอย่างพัฒนาการของงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 3

 

เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. 2544. วัดดาวดึงษาราม. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน.

สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

896


ยอด Download

2,977


ผู้เข้าชมเว็บไซต์